วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

ฟอลซิลงูยักษ์ไทเทโนโบอา

ฟอลซิลงูขนาดใหญ่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จัก ถูกค้นพบในเหมืองถ่านหินของโคลัมเบีย วิเคราะห์อายุกว่า 60 ล้านปี บอกให้รู้สภาพแวดล้อมของโลกยุคเก่า
 
วารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ รายงานอ้างผลการศึกษาสถาบันวิจัยเขตร้อนสมิธโซเนียนของสหรัฐ ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์พบซากฟอสซิลงูยักษ์ "ไททาโนโบอา" ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อ 60 ล้านปีที่แล้วในเหมืองถ่านหินรัฐลากัวจิรา ทางเหนือของโคลัมเบีย นับเป็นงูขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยค้นพบบนโลกนี้

 ซากฟอสซิลนี้มีความยาว 13-14 เมตร หนักกว่า 1.14 ตัน เชื่อว่าตอนยังมีชีวิตงูตัวนี้อาจยาวกว่ารถบัส และหนักกว่าวัวกระทิง โดย ดร.โจนาธาน บลอช ผู้เชี่ยวชาญด้านฟอสซิล แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาในสหรัฐที่กำลังศึกษาซากฟอสซิลงูตัวนี้เผยว่า ขนาดใหญ่ยักษ์เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า อุณหภูมิในบริเวณป่าดิบชื้นในอเมริกาใต้เคยร้อนกว่านี้
เพราะงู และสัตว์เลือดเย็นจะมีขนาดจำกัดไปตามอุณหภูมิในแหล่งที่อยู่อาศัย และจากขนาดฟอสซิลที่พบเชื่อว่า เมื่อ 60 ล้านปีก่อน ป่าดิบชื้นแถบนี้มีอุณหภูมิอยู่ที่ 33 องศาเซลเซียส สูงกว่าในตอนนี้ 10 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบซากเต่า และจระเข้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในซากฟอสซิล ซึ่งอาจเป็นอาหารที่ไททันโนโบอาใช้กินในป่าฝนนี้ด้วย

 ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบซากฟอสซิลที่เป็นกระดูกสันหลังของงูตัวนี้เมื่อปี 2547 และถูกส่งไปยังสถาบันสมิธโซเนียนในปานามา ก่อนจะถูกส่งต่อไปที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่รัฐฟลอริดาในสหรัฐ เพื่อทำความสะอาดและทำการวิจัย ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะระบุได้ว่า เป็นซากฟอสซิลของงูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จัก โดยขนาดใหญ่สุดที่เคยบันทึกไว้คือความยาว 10 เมตร หนัก 183 กิโลกรัม

 นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามค้นหาซากฟอสซิลงูยักษ์พันธุ์นี้เพิ่มเติมในเหมืองด้วยความหวังว่าจะสามารถค้นหาไขปริศนาเกี่ยวกับชีวิตของไททาโนโบอาได้ รวมทั้งจะสามารถไขความกระจ่างของสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศในเขตที่พบซากฟอสซิลในช่วงเวลาที่งูมีชีวิตอยู่ได้ด้วย

 วารสารเนเจอร์ยังรายงานด้วยว่าสัตว์ต่างๆ อาจเกิดขึ้นในโลกมานานกว่าที่เคยคาดไว้หลายสิบล้านปี โดยการใช้เทคนิคใหม่หาอายุตะกอนหินที่พบในโอมานแสดงให้เห็นว่า ฟองน้ำซึ่งเป็นสัตว์ยุคแรกนั้นเติบโตเจริญงอกงามอยู่ในพื้นที่นี้มามากกว่า 635 ล้านปีแล้ว มากกว่าหลักฐานเดิมที่ระบุว่า สิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นในโลกเมื่อ 540 ล้านปีที่แล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

ไอศกรีมซันเดมีอะไรเกี่ยวข้องกับวันอาทิตย์

ไอศกรีมโซดามีจำหน่ายครั้งแรกเมื่อค.ศ.1874 ในรัฐฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว

คำว่า "ซันเด" (sundae) ในไอศกรีมซันเด บิดมาจากคำว่า "ซันเดย์" (Sunday) วันอาทิตย์ 
เนื่องจากขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านการดื่มสุราในช่วงทศวรรษ 1880-1889 ถือว่าน้ำโซดาเกี่ยวโยงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายเมืองในภาคตะวันตกตอนกลางถึงกับ      ออกกฏหมายห้ามจำหน่ายไอศกรีมโซดาในวันอาทิตย์ 

บรรดาเจ้าของร้านขายไอศกรีมและน้ำโซดาหัวใสที่ไม่ต้องการเสียรายได้งาม ๆ ในวันที่ขายดีที่สุดในรอบสัปดาห์ จึงคิดวิธีการที่ง่ายที่สุดเพื่อเลี่ยงกฏหมายที่ "เหลวไหล" นี้โดยไม่ต้องเติมโซดาลงในไอศกรีมโซดา เติมแต่น้ำเชื่อมรสต่าง ๆ ลงบนไอศกรีมแทน


ไอศกรีมสูตรใหม่ที่เสิร์ฟในวันอาทิตย์นี้ให้ชื่ออย่างเหมาะเจาะว่า "a sunday" ต่อมาเปลี่ยนอักษรตัว y ให้ชื่อเป็นอักษร e เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากโบสถ์

ดูเหมือนว่าไอศกรีมสูตรใหม่ได้กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จเกินคาด 
ทุกวันนี้ไอศกรีมซันเดเป็นที่นิยมรับประทานกันมากกว่าไอศกรีมโซดาเสียอีก

นาฬิกา แปลว่า มะพร้าว???

นาฬิกา คือเครื่องบอกเวลา มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่า 

เรียกตามชนิดของสิ่งที่ใช้บอกเวลา เช่น นาฬิกาแดด นาฬิกาน้ำ นาฬิกาทราย 
เรียกตามลักษณะการนำไปใช้ เช่น นาฬิกาพก นาฬิกาแขวน
เรียกตามประโยชน์ใช้สอย เช่น นาฬิกาปลุก นาฬิกาจับเวลา

คำว่า นาฬิกา มาจากคำภาษาบาลีว่า นาฬิเกร (อ่านว่า นา-ลิ-เก-ระ) แปลว่า มะพร้าว 
ทั้งนี้เพราะเครื่องบอกเวลาแต่เริ่มแรกนั้นใช้กะลามะพร้าวเจาะรูลอยน้ำ 
เมื่อกะลานั้นจมครั้งหนึ่ง ก็เรียกว่า นาฬิกาหนึ่ง   

จึงนำคำว่า นาฬิกา มาใช้เป็นเครื่องบอกเวลาและช่วงระยะเวลาหนึ่ง


ปัจจุบันคำว่า นาฬิกา นอกจากจะหมายถึงเครื่องบอกเวลาแล้ว 
ยังใช้เป็นคำลักษณนามบอกลำดับเวลาตามชั่วโมง 

โดยให้เริ่มนับ ๑ นาฬิกา เมื่อเวลาผ่านเที่ยงคืนไป ๑ ชั่วโมง 
และนับเรื่อยไปจนถึงเที่ยงคืนเป็นเวลา ๒๔ นาฬิกา 
ใช้ตัวย่อว่า น. (อ่านว่า นอ) เขียน น หนู มีจุด

ที่มา:บทวิทยุรายการ"รู้ รัก ภาษาไทย"ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

คัดลอกมาจาก: ราชบัณฑิตยสถาน 

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

Rice Bran Wax

 
ไขรำข้าว (Rice Bran Wax) คือ ผลผลอยได้จากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันรำข้าว
ปัจจุบัน ไขรำข้าวได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ยา อาหาร Polymer และอุตสาหกรรมหนัง มีงานวิจัยที่มีการใช้ไขรำข้าวในเครื่องสำอาง เช่น ครีมเย็น
(Cold cream) และ ยา นอกจากนี้ ยังมีการรายงานว่า ไขรำข้าวมีคุณสมบัติเทียบได้กับ
ไขคาร์นูบา(สารเคลือบไขที่นิยมใชเคลือบผักและผลไม้) และไขอื่นๆ ในไขรำข้าวยังเป็น
แหล่งที่มีสารโพลิโคซานอล (Policosanol) สูง ซึ่งสารโพลิโคซานอลคือสารแอลกอฮอล์
สายโซ่ตรงยาวที่มีความยาวคาร์บอน 20-36 อะตอม มีคุณสมบัติช่วยลดการจับตัว
ของเกล็ดเลือด ลดอันตรายต่อเยื่อบุหลอดเลือดและลดโคเลสเตอรอลในเนื่อเยื่อต่างๆได้