วารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ รายงานอ้างผลการศึกษาสถาบันวิจัยเขตร้อนสมิธโซเนียนของสหรัฐ ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์พบซากฟอสซิลงูยักษ์ "ไททาโนโบอา" ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อ 60 ล้านปีที่แล้วในเหมืองถ่านหินรัฐลากัวจิรา ทางเหนือของโคลัมเบีย นับเป็นงูขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยค้นพบบนโลกนี้
ซากฟอสซิลนี้มีความยาว 13-14 เมตร หนักกว่า 1.14 ตัน เชื่อว่าตอนยังมีชีวิตงูตัวนี้อาจยาวกว่ารถบัส และหนักกว่าวัวกระทิง โดย ดร.โจนาธาน บลอช ผู้เชี่ยวชาญด้านฟอสซิล แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาในสหรัฐที่กำลังศึกษาซากฟอสซิลงูตัวนี้เผยว่า ขนาดใหญ่ยักษ์เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า อุณหภูมิในบริเวณป่าดิบชื้นในอเมริกาใต้เคยร้อนกว่านี้
เพราะงู และสัตว์เลือดเย็นจะมีขนาดจำกัดไปตามอุณหภูมิในแหล่งที่อยู่อาศัย และจากขนาดฟอสซิลที่พบเชื่อว่า เมื่อ 60 ล้านปีก่อน ป่าดิบชื้นแถบนี้มีอุณหภูมิอยู่ที่ 33 องศาเซลเซียส สูงกว่าในตอนนี้ 10 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบซากเต่า และจระเข้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในซากฟอสซิล ซึ่งอาจเป็นอาหารที่ไททันโนโบอาใช้กินในป่าฝนนี้ด้วย
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบซากฟอสซิลที่เป็นกระดูกสันหลังของงูตัวนี้เมื่อปี 2547 และถูกส่งไปยังสถาบันสมิธโซเนียนในปานามา ก่อนจะถูกส่งต่อไปที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่รัฐฟลอริดาในสหรัฐ เพื่อทำความสะอาดและทำการวิจัย ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะระบุได้ว่า เป็นซากฟอสซิลของงูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จัก โดยขนาดใหญ่สุดที่เคยบันทึกไว้คือความยาว 10 เมตร หนัก 183 กิโลกรัม
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามค้นหาซากฟอสซิลงูยักษ์พันธุ์นี้เพิ่มเติมในเหมืองด้วยความหวังว่าจะสามารถค้นหาไขปริศนาเกี่ยวกับชีวิตของไททาโนโบอาได้ รวมทั้งจะสามารถไขความกระจ่างของสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศในเขตที่พบซากฟอสซิลในช่วงเวลาที่งูมีชีวิตอยู่ได้ด้วย
วารสารเนเจอร์ยังรายงานด้วยว่าสัตว์ต่างๆ อาจเกิดขึ้นในโลกมานานกว่าที่เคยคาดไว้หลายสิบล้านปี โดยการใช้เทคนิคใหม่หาอายุตะกอนหินที่พบในโอมานแสดงให้เห็นว่า ฟองน้ำซึ่งเป็นสัตว์ยุคแรกนั้นเติบโตเจริญงอกงามอยู่ในพื้นที่นี้มามากกว่า 635 ล้านปีแล้ว มากกว่าหลักฐานเดิมที่ระบุว่า สิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นในโลกเมื่อ 540 ล้านปีที่แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น