ปลากัดที่พบตามแหล่งน้ำธรรมชาติในประเทศไทยมีอยู่ ๓ ชนิด แต่มีเพียงชนิดเดียวที่นิยมเลี้ยงกันมากในประเทศไทย และแพร่หลายไปทั่วโลก คือ ปลากัดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens ซึ่งพบทั่วไปในทุกภาคของประเทศ ปลากัดอีก ๒ ชนิดที่นิยมนำมากัดกัน แต่ไม่นิยมนำมาเลี้ยงหรือปรับปรุงพันธุ์นั้น ชนิดหนึ่งเป็นปลาพื้นเมืองภาคใต้ (Betta imbellis) และอีกชนิดหนึ่งเป็นปลากัดพื้นเมืองภาคอีสาน (Betta smaragdina) ในระยะหลังได้มีการนำปลาป่าพื้นเมืองภาคใต้มาผสมข้ามสายพันธุ์บ้าง เพื่อให้ได้ลูกผสมที่กัดเก่ง หรือให้ได้สีและลักษณะที่สวยงาม อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงปลากัด โดยทั่วไปจะหมายถึง Betta splendens ซึ่งนิยมเลี้ยงกันอยู่ทั่วโลก โดยที่ปลากัดชนิดนี้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่สามารถสร้างลักษณะสีและครีบได้มากมายแฝงอยู่ จึงทำให้มีการพัฒนาปลากัดสายพันธุ์ที่มีลักษณะใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ และมีการตั้งชื่อปลาที่พัฒนาได้ใหม่นั้นด้วย
ประเภทของปลากัด โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ยนต์ มุสิก
ปลากัดที่พบตามแหล่งน้ำธรรมชาติในประเทศไทยมีอยู่ ๓ ชนิด แต่มีเพียงชนิดเดียวที่นิยมเลี้ยงกันมากในประเทศไทย และแพร่หลายไปทั่วโลก คือ ปลากัดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens ซึ่งพบทั่วไปในทุกภาคของประเทศ ปลากัดอีก ๒ ชนิดที่นิยมนำมากัดกัน แต่ไม่นิยมนำมาเลี้ยงหรือปรับปรุงพันธุ์นั้น ชนิดหนึ่งเป็นปลาพื้นเมืองภาคใต้ (Betta imbellis) และอีกชนิดหนึ่งเป็นปลากัดพื้นเมืองภาคอีสาน (Betta smaragdina) ในระยะหลังได้มีการนำปลาป่าพื้นเมืองภาคใต้มาผสมข้ามสายพันธุ์บ้าง เพื่อให้ได้ลูกผสมที่กัดเก่ง หรือให้ได้สีและลักษณะที่สวยงาม อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงปลากัด โดยทั่วไปจะหมายถึง Betta splendens ซึ่งนิยมเลี้ยงกันอยู่ทั่วโลก โดยที่ปลากัดชนิดนี้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่สามารถสร้างลักษณะสีและครีบได้มากมายแฝงอยู่ จึงทำให้มีการพัฒนาปลากัดสายพันธุ์ที่มีลักษณะใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ และมีการตั้งชื่อปลาที่พัฒนาได้ใหม่นั้นด้วย
ปลาป่าหรือปลาลูกทุ่ง
ปลาสังกะสี และปลาลูกหม้อ
ปลากัดจีน
ปลากัดหางสามเหลี่ยม หรือปลากัดเดลตา
ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีก หรือปลากัดฮาล์ฟมูนเดลตา
ปลากัดหางมงกุฎ หรือปลากัดคราวน์เทล
ปลากัดประเภทอื่นๆ
ปลาป่าหรือปลาลูกทุ่ง
เป็นปลากัดที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามท้องนา และหนองบึง เป็นปลาขนาดเล็กที่ไม่มีลักษณะเด่นมากนัก ส่วนมากครีบ และหางมีสีแดงเกือบตลอด มีประสีดำบ้างเล็กน้อย บางทีอาจมีแต้มสีเขียวอ่อนๆ เรียงต่อกันเป็นเส้นสีเขียวๆ ที่ครีบหลัง เวลาถอดสี ทั้งตัวและครีบจะเป็นสีน้ำตาลด้านๆ คล้ายใบหญ้าแห้ง ในปัจจุบันคำว่า “ปลาป่า” หมายความรวมถึงปลากัดพื้นเมืองภาคอีสาน และปลากัดพื้นเมืองภาคใต้ด้วย
ปลาสังกะสี และปลาลูกหม้อ
เป็นปลากัดที่นักเพาะพันธุ์ปลาได้นำมาคัดสายพันธุ์ โดยมุ่งหวังจะได้ปลาที่กัดเก่ง จากบันทึกคำบอกเล่าของหลวงอัมรินทร์สมบัติ (ครอบ สุวรรณนคร) ซึ่งเป็นนักเลงปลาเก่าเชื่อว่า ปลาสังกะสีและปลาลูกหม้อน่าจะได้รับการพัฒนาขึ้นเมื่อประมาณพ.ศ. ๒๔๓๐ โดยท่านจำได้ว่าก่อนหน้านั้นยังต้องจับปลาป่ามากัดพนันกันอยู่ ต่อมานักเลงปลาบางคนก็เริ่มใช้วิธีไปขุดล้วงเอาปลาป่าที่อาศัยอยู่ตามรูปูในฤดูแล้ง มาขังไว้ในโอ่ง และเลี้ยงดูให้อาหาร พอถึงฤดูฝน ก็นำมากัดพนันกับปลาป่า ซึ่งส่วนใหญ่จะสู้ปลาขุดที่นำมาเลี้ยงไว้ไม่ได้ การเล่นปลาขุดยังนิยมเล่นกันมาถึงประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๖ หลังจากนั้นก็มีการเก็บปลาที่กัดเก่งเลี้ยงไว้ข้ามปี และหาปลาป่าตัวเมียมาผสม ลูกปลาที่ได้จากการผสมในชุดแรกเรียกว่า “ปลาสังกะสี” ปลาสังกะสีที่เก่ง อดทน สวยงาม ก็จะถูกคัดไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ เมื่อผสมออกมาในชุดต่อไป จะได้ปลาที่เรียกว่า “ปลาลูกหม้อ”
ที่เรียกว่า ปลาสังกะสี สันนิษฐานว่าน่าจะได้ชื่อมาจากผิวหนังที่หนาแกร่ง ไม่ขาดง่ายเมื่อถูกกัดเหมือนปลาป่า ปลาสังกะสีมักจะตัวใหญ่ มีสีสันลักษณะต่างจากปลาป่า แต่ส่วนมากมีชั้นเชิงและความอดทนในการกัดสู้ปลาลูกหม้อไม่ได้
ส่วนที่เรียกว่า ปลาลูกหม้อ นั้น น่าจะมาจากการนำหม้อดินมาใช้ในการเพาะและอนุบาลปลากัดในระยะแรกๆ ปลาลูกหม้อจึงเป็นปลาสายพันธุ์ที่สร้างมาโดยนักเลงปลาทั้งหลาย เพื่อให้ได้ลักษณะที่ดีสำหรับการต่อสู้ และมีสีสันที่สวยงามตามความพอใจของเจ้าของ ปลาลูกหม้อมีรูปร่างหนาใหญ่กว่าปลาป่าและปลาสังกะสี ส่วนมากสีจะเป็นสีน้ำเงิน สีแดง สีเทา สีเขียว สีคราม หรือสีแดงปนน้ำเงิน ครีบหางอาจเป็นรูปมนป้าน หรือรูปใบโพธิ์ การเล่นปลากัดในสมัยก่อนนั้น ปลาลูกหม้อแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ “ลูกแท้” และ “ลูกสับ” ลูกแท้หมายถึง ลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ที่มาจากครอกเดียวกัน ส่วนลูกสับหมายถึง ลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ที่มาจากต่างครอกกัน
ปลากัดจีน
เป็นชื่อที่ใช้เรียกปลากัดครีบยาวมาช้านาน เข้าใจว่าอาจมาจากลักษณะครีบที่ยาวรุ่ยร่ายสีฉูดฉาดเหมือนงิ้วจีน ปลากัดจีนเป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลาลูกหม้อ โดยผสมคัดพันธุ์ให้ได้ลักษณะที่มีครีบและหางยาวขึ้น ความยาวของครีบหางส่วนใหญ่จะยาวเท่ากับ หรือมากกว่าความยาวของลำตัวและหัวรวมกัน และมีการพัฒนาให้ได้สีใหม่ๆ และสวยงาม โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวไทย ซึ่งได้พัฒนาสายพันธุ์สำเร็จมาช้านาน ก่อนที่ปลากัดจะถูกนำไปเลี้ยงในต่างประเทศ แต่ไม่มีการบันทึกไว้ว่า การพัฒนาปลากัดสายพันธุ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ปลากัดชนิดนี้เป็นชนิดที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามแพร่หลายไปทั่วโลก และได้มีการนำไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่อง จนได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะใหม่ๆ ออกมาอีกมากมาย
ปลากัดหางสามเหลี่ยม หรือปลากัดเดลตา
เป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลากัดครีบยาว หรือปลากัดจีน โดยพัฒนาให้หางสั้นเข้าและแผ่กว้างออกไปเป็นรูปสามเหลี่ยม ขอบครีบหางกางทำมุม ๔๕ - ๖๐ องศา กับโคนหาง และต่อมาได้พัฒนาให้ครีบแผ่ออกไปกว้างมากยิ่งขึ้น เรียก “ซูเปอร์เดลตา” ซึ่งมีหางแผ่กางใหญ่กว่าปกติ จนขอบครีบหางด้านบนและล่างเกือบเป็นเส้นตรง
ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีก หรือปลากัดฮาล์ฟมูนเดลตา
เป็นปลากัดที่มีหางแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม โดยขอบครีบหางจะแผ่เป็นแนวเส้นตรงเดียวกันเป็นมุม ๑๘๐ องศา ได้มีแนวคิดและความพยายามในการที่จะพัฒนาปลากัดสายพันธุ์นี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ในประเทศเยอรมนี แต่เพิ่งประสบผลสำเร็จเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวฝรั่งเศสและชาวเยอรมัน
ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีกมีลักษณะที่สำคัญ คือ ครีบหางแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม โดยขอบครีบด้านหน้าจะแผ่เป็นแนวเส้นตรงเดียวกันเป็นมุม ๑๘๐ องศา ครีบด้านนอกเป็นขอบเส้นโค้งของครึ่งวงกลม ก้านครีบหางแตกแขนง ๒ ครั้ง เป็น ๔ แขนง หรือมากกว่า ปลาที่สมบูรณ์จะต้องมีลำตัวและครีบสมส่วนกัน โดยลำตัวต้องไม่เล็กเกินไป ครีบหางแผ่ต่อเนื่องหรือซ้อนทับกับครีบหลังและครีบก้น จนเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน ขอบครีบหลังโค้งมนเป็นส่วนหนึ่งของวงกลม เส้นขอบครีบทุกครีบโค้งรับเป็นเส้นเดียวกัน (ยกเว้นครีบอก) ปลายหางคู่ที่แยกเป็น ๒ แฉกจะต้องซ้อนทับและโค้งมนสวยงาม ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีกที่แท้จริงจะต้องมีขอบครีบหางแผ่ทำมุม ๑๘๐ องศา ได้ตลอดไป ถึงแม้ปลาจะมีอายุมากขึ้นก็ตาม
ปลากัดหางมงกุฎ หรือปลากัดคราวน์เทล
เป็นปลากัดที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวสิงคโปร์ เป็นปลากัดสายพันธุ์ใหม่ที่มีหางจักเป็นหนามเหมือนมงกุฎ และเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน ลักษณะสำคัญของปลากัดชนิดนี้คือ ก้านครีบจะโผล่ยาวออกไปจากปลายหาง ลักษณะดูเหมือนหนาม ซึ่งอาจยาวหรือสั้นแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับลักษณะการแยกของปลายหนาม และการแยกการเว้าโคนหนามก็มีหลายรูปแบบ ปลากัดหางมงกุฎที่สมบูรณ์จะมีครีบหางแผ่เต็มซ้อนทับได้แนวกับครีบอื่นๆ และส่วนของหนามมีการจัดเรียงในรูปแบบที่สวยงามสม่ำเสมอ
ปลากัดประเภทอื่นๆ
นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีปลากัดประเภทอื่นๆ เช่น “ปลากัดเขมร” ที่ใช้เรียกปลากัดที่มีสีลำตัวเป็นสีอ่อนหรือเผือก และมีครีบสีแดง “ปลากัดหางคู่” ซึ่งครีบหางมีลักษณะเป็น ๒ แฉก อาจแยกกันอย่างเด็ดขาด หรือที่ตรงโคนยังเชื่อมติดกันอยู่ก็ได้ รวมทั้งปลากัดที่เรียกชื่อตามรูปแบบสี เช่น “ปลากัดลายหินอ่อน” และ “ปลากัดลายผีเสื้อ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น