วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ผลมหัศจรรย์ (miracle fruit)

เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักความมหัศจรรย์ของพืชนี้ดี!! สิ่งมหัศจรรย์จะเกิดขึ้นเมื่อเรากินผลสีแดงของมัน และตามด้วยของเปรี้ยวๆ ตามไป หลังจากนั้นไม่นานความเปรี้ยวก็เปลี่ยนเป็นความหวานไปในบัดดล! แม้จะมีการศึกษามากมายเกี่ยวกับสารและคุณสมบัติที่ทำให้เกิดความหวานนี้ขึ้น แต่ยังไม่มีนักวิจัยกลุ่มไหนสามารถอธิบายกลไกการเกิดนี้ได้เลย จนกระทั่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ ทีมนักวิจัยญี่ปุ่นและฝรั่งเศสสามารถอธิบายกลไกดังกล่าวได้สำเร็จเป็นครั้งแรก!


ต้น มหัศจรรย์ หรือ Miracle fruit เป็นพืชวงศ์ Sapotaceae เป็นไม้พุ่ม สูงเต็มที่ไม่เกิน 4.5 เมตร มีต้นกำเนิดจากประเทศกานาแถบแอฟริกาตะวันตกซึ่งมีสภาพภูมิอากาศคล้ายคลึงกับ ภาคใต้ของประเทศไทย

ชื่อ "ไม้มหัศจรรย์" ได้มาเพราะหลังจากกินผลสุกแก่ที่มีสีแดงเข้าไป แล้วกินของมีรสเปรี้ยวตาม เช่น มะนาว มะยม ระกำ แทนที่จะเปรี้ยวตามธรรมชาติ รสชาติจะกลับกลายเป็นหวาน ด้วยมิราเคิลมีสารมิราคูลิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่จะส่งสัญญาณไปทำให้ต่อมรับรสเปรี้ยวไม่ทำงาน และให้ต่อมรับรสหวานทำงาน ชาวไต้หวันเขาเรียกมิราเคิลว่า เสินมี่กั่ว เสิน แปลว่าพระเจ้า มี่แปลว่าความลับ กั่ว แปลว่าผลไม้ สรุปคือผลไม้ซึ่งเป็นความลับของพระเจ้า มิราเคิลต้องการดินที่มีสภาพอินทรียวัตถุสูง ควรเป็นดินร่วนโปร่ง หากเน้นให้ได้ผลผลิตต้องใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 16 16 16 อาจสลับกับขี้ค้างคาว หรือใช้ขี้ค้างคาวอย่างเดียว ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีก็ได้ ปริมาณการใส่ ต้นเล็ก 1 ช้อนแกง ต่อ 15 วัน แต่ถ้าอยู่ในดินก็ 5-10 ช้อนแกง ใส่ตามในพุ่ม ไม่ใส่ชิดโคน  เมื่อต้นมี อายุได้ 2 ปีขึ้นไปก็จะเริ่มออกดอกมากในช่วงปลายฤดูหนาว อย่างไรก็ตามต้นมิราเคิลเป็นไม้ผลที่ชอบความชื้นสูง ไม่ชอบสภาพแดดจัดแต่ต้นจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพกลางแจ้งจึงควรพรางแสงด้วย ตาข่ายพรางแสงประมาณ 50-60% และเนื่องจากเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กมีความสูงเต็มที่ไม่เกิน 2 เมตร ปัญหาที่จะตามมาเมื่อต้นให้ผลผลิตมากอาจจะมีแมลงวันทองมาเจาะทำลายได้ ควรทำมุ้งครอบ อย่าฉีดพ่นสารฆ่าแมลง จะได้เป็นผลไม้ปลอดสารพิษ
ฝ่าย วิชาการสถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลการเข้ามาเมืองไทยของมิราเคิล ว่า นักวิชาการที่ไปอบรม ณ ประเทศออสเตรเลีย ได้นำเมล็ดมิราเคิลมาปลูก ในระยะแรกมีจำนวนไม่กี่ต้น แต่ได้ขยายพันธุ์ไว้ และมีคนสนใจมากรวมถึงมีชาวญี่ปุ่นและไต้หวันที่สั่งซื้อต้นจำนวนมาก ขณะนี้สถาบันการแพทย์แผนไทยมีการศึกษาการนำผลมิราเคิลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทางด้านสมุนไพรอย่างจริงจัง ถึงแม้มิราเคิลจะไม่ใช่ผลไม้พื้นเมืองของไทย แต่มีข้อมูลทางการเกษตรที่ยืนยันได้ว่าสามารถปลูกให้ออกดอกติดผลได้ในสภาพ ภูมิอากาศของประเทศไทย  มิราเคิลออกผลตลอดปี แต่ช่วงหน้าฝนอาจจะลดลง เพราะความชื้นทำให้ดอกเป็นรา ปลายฝนไปแล้วจึงจะให้ผลผลิตค่อนข้างสูง บางต้นถึง 2,000 ผล ช่วงฤดูอื่นจะมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับจังหวะที่ดอกบาน ดอกมิราเคิลมีกลิ่นหอมคล้ายดอกราตรี ราคาขายต้นเล็กต้นละประมาณ 100 บาท ต้นใหญ่ประมาณ 1,200 บาท มิราเคิลมีจุดอ่อนคือเลี้ยงง่าย แต่ติดลูกยาก ดังนั้นต้นเล็กจะราคาถูก แต่พอติดผลจะราคาแพง บางที่อาจถึง 5,000 บาท ส่วนผลตกผลละราว 5 บาท

ต้นมหัศจรรย์เป็นต้นไม้ที่มีความสูงได้มากถึง 5 เมตรและได้รับพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้มีความสูงไม่มากนักเพื่อให้เหมาะกับการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน ดอกมีกลิ่นหอม ออกผลตลอดทั้งปี และผลแก่จะมีสีแดงสด ความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นก็คือ หลังจากเรากินผลสีแดงของมันไป และตามด้วยอาหารที่มีรสเปรี้ยว ความเปรี้ยวของอาหารนี้จะเปลี่ยนเป็นรสหวาน และอยู่ได้นานไม่ต่ำกว่า 1ชั่วโมง ซึ่งความรู้นี้มีนานมาหลายศตวรรษจากชาวแอฟริกาพื้นเมืองที่มักจะกินผลไม้ชนิดนี้ก่อนกินของเปรี้ยว
 ภาพโมเดลของสารมิราคูลิน (สีเขียว) ที่จับกับตัวรับรสหวาน (สีเทากับสีเหลือง) อย่างเหนียวแน่น (Koizumi et al., 2011)

ความมหัศจรรย์ในการเปลี่ยนรสเปรี้ยวให้เป็นรสหวานนี้ทำให้มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับสารสำคัญและคุณสมบัติของมัน จนในปี พ.ศ. 2511 ทั่วโลกจึงได้รู้ว่าสารที่ทำให้เกิดความหัศจรรย์นี้ก็คือ มิราคูลิน (Miraculin; MCL) โดยการศึกษาของ J.N. Brouwer สารมิราคูมินเป็นไกลโคโปรตีนที่ประกอบไปด้วยกรดอะมิโน 191ตัวและน้ำตาลโดยมีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบ 13.9%ไม่มีสีและไม่มีรสชาติ มีการตั้งทฤษฎีกลไกการทำงานของสารนี้ว่า เมื่อเรากินลูกมหัศจรรย์สีแดงสดเข้าไป สารมิราคูลินจะจับกับตัวรับรสหวานในตุ่มรับรส (taste bud) และเปลี่ยนโครงสร้างของตัวรับ ทำให้ตัวรับรสหวานตอบสนองกับทั้งรสหวานและรสเปรี้ยว และเมื่อเรากินอาหารที่มีรสเปรี้ยวตามไป ตัวรับรสหวานก็ทำงานและส่งกระแสประสาทไปยังสมองบอกว่าอาหารนั้นมีรสหวานนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีนักวิทย์คนใดทำการทดลองเพื่อยืนยันทฤษฎีดังกล่าว
 (A) ในสภาวะเป็นกลาง มิราคูลิน (ในรูป inactive) จะยับยั้งการทำงานของตัวรับรสหวาน แต่ในสภาวะเป็นกรด มิราคูลินจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและทำให้ตัวรับทำงานได้มากขึ้น ส่วน (B) เมื่อสภาวะเป็นกลางและมีสารให้ความหวานอื่นๆ รวมอยู่ด้วย มิราคูลินจะไปลดการทำงานของตัวรับ (Koizumi et al., 2011)

จนกระทั่งเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 ทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่นและฝรั่งเศสได้ตีพิมพ์ความสำเร็จในการไขกลไกการทำงานของสารมิราคูลินลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) พวกเขาได้ทำการศึกษาการทำงานของสารมิราคูลินในตัวรับรสหวานทั้งของคนและหนูที่ดัดแปลง(มาจากเซลล์ไตของมนุษย์)เพื่อให้ทราบว่าบริเวณพื้นที่ใดของตัวรับรสหวานที่สารนี้ไปเกาะ พวกเขาพบว่า สารมิราคูลินจะไปเกาะกับตัวรับรสหวาน (ชื่อว่า hT1R2-hT1R3) อย่างเหนียวแน่น ในสภาวะที่เป็นกลาง (ไม่เป็นกรดหรือด่าง) มิราคูลินจะมีโครงสร้าง (‘inactive form’) ที่ไปยับยั้งการทำงานของตัวรับรสหวาน ทำให้เรารับรู้ว่ามิราคูลินไม่มีรสชาตินั่นเอง แต่ถ้ามีสารให้ความหวานอื่น (sweeteners) เกาะร่วมอยู่ด้วย มิราคูลินจะไปลดการทำงานของตัวรับรสหวานลง ทำให้เรารับรู้ถึงความหวานของสารให้ความหวานอื่นลดลง และเมื่ออยู่ในสภาวะเป็นกรด มิราคูลินจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง (อยู่ในรูป 'activeform’) และกระตุ้นการทำงานของตัวรับรสหวานให้มากขึ้น ทำให้เราได้รับรู้รสหวานเมื่อกินอาหารที่มีรสเปรี้ยวตามไป (ยิ่งของกินมีรสเปรี้ยวมากเท่าใด เราก็จะรับรู้รสหวานมากขึ้นเท่านั้น) และยิ่งมีสารให้ความอื่นรวมอยู่ด้วย จะทำให้เรารับรู้ความหวานของสารให้ความหวานอื่นมากกว่าปกติ และเมื่อกลืนของเปรี้ยวไปแล้ว สารนี้จะกลับสู่ร่างเดิม ('inactive form') และเกาะติดแนบแน่นกับตัวรับนานประมาณ 1ชั่วโมง

การทำงานของตัวรับหวานต่อมิราคูลินในค่า pH ต่างๆ จะเห็นว่าตัวรับทำงานได้ดีในสภาวะที่เป็นกรด (Koizumi et al., 2011)

นอกจากนี้ พวกเขายังเทียบกลไกและคุณสมบัติของมิราคูลินกับสารที่แปลงความเปรี้ยวเป็นความหวานอีกอย่างหนึ่งคือ สารนีโอคูลิน (neoculin; NCL) ที่อยู่ในผลของต้นพร้าวนกคุ่ม (Lempah; Curculigo latifolia) ที่พบทางใต้ของประเทศไทยและทางตะวันตกของประเทศมาเลเซียแล้วพบว่า นีโอคูลินมีทั้งความเหมือนและความต่างกับมิราคูลิน สิ่งที่เหมือนกันคือ สารนี้ก็เกาะกับตัวรับรสหวาน และรับรู้รสหวานเมื่อกินอาหารที่มีรสเปรี้ยวเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ สารนีโอคูลินมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน และมันเกาะกับตัวรับรสหวานคนละพื้นที่ อีกทั้งตัวมันเองมีรสหวานในสภาพที่เป็นกลาง และจะหวานมากขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพที่เป็นกรด

"ทานาคา" ต้นไม้อัศจรรย์อันลือชื่อของพม่า

ทานาคา (Tanaka) ต้นไม้อัศจรรย์อันลือชื่อของพม่า เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า LIMONIA ACIDISSIMA LINN. เนื้อไม้ทานาคาส่วนที่เป็นเปลือกและผิวเนื้อไม้จะมีกลิ่นหอมเย็นอ่อน ๆ มีสีออกเหลืองนวล พบมากทางภาคเหนือตอนล่างของพม่า สาวพม่ารู้จักใช้ทานาคามานานกว่า 200 ปี แทบทุกบ้านมักมีท่อนไม้ทานาคา วางไว้คู่กับกระจกเสมอ เวลาใช้ก็นำเอาท่อนไม้ทานาคามาฝนกับแผ่นหิน เจือด้วยน้ำเล็กน้อย แล้วใช้ทาเรือนร่างโดยเฉพาะใบหน้าจะเน้นมาก ทานาคา เป็นต้นไม้ที่อยู่ลึกเข้าไปในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณของประเทศพม่า ลักษณะของลำต้นจะตั้งตรง สูงประมาณ 10 เมตร เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง กิ่งและก้านตั้งฉากกับลำต้น มีหนามยาวเล็กคล้ายกิ่งสั้นๆ ดอกเป็นช่อสีขาว ผลกลมสีเหลือง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการขยายเมล็ด ซึ่งในประเทศไทยก็มีต้นไม้ต้นไม้ที่อยู่ในตระกุลเดียวกันกับต้นทานาคาคือ ต้นพญายา อาจารย์ วุฒิ วุฒิธรรมเวช กรรมการวิชาชีพแพทย์แผนไทยและอาจารย์พิเศษภาควิชาแพทย์แผนไทยของมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ต้นทานาคานอกจากจะใช้เป็นแป้งทาหน้าแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพร เช่นใบแก้โรคลมบ้าหมู ผลแห้งแก้พิษ แก้ไข้ ท้องอืดเฟ้อ บำรุงร่างกาย รากเป็นยาระบาย ขับเหงื่อ และลำต้นใช้ฝนกับน้ำสะอาดทาหน้าแก้สิวฝ้า ป้องกันการอักเสบของผิวหนัง บำรุงผิว มู่เอ หญิงสาวชาวพม่า วัย 22 ปี ลูกจ้างร้านขายของย่านตลาดริมเมย ชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บอกเล่าขณะกำลังกรอกแป้งทานาคาใส่ถุงเตรียมวางขายว่า ตั้งแต่เป็นเด็กก็ได้เห็นชาวพม่าทั้งชายหญิงใช้แป้งทานาคา ทาหน้าก่อนออกจากบ้านเสมอเพื่อกันแดด พอเริ่มเข้าโรงเรียนแม่ก็จะทาให้ทุกวัน สมัยก่อนต้องนำท่อนไม้มาฝนกับแผ่นหิน แต่ปัจจุบันสะดวกขึ้นมีผงสำเร็จรูป เพียงผสมน้ำก็ทาได้เลย เมื่อใช้แป้งทานาคาทาหน้าแล้วจะรู้สึกเย็นที่ผิวตลอดเวลา แพทย์หญิงศิริลักษณ์ ชัยทรัพย์ ผู้ผลิตสมุนไพรบำรุงรักษาผิวพรรณ กล่าวว่าสมุนไพรที่ใช้ขัดผิวหน้าและผิวกาย โดยส่วนใหญ่แล้วแล้วจะมีไม้ทานาคาเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น เพราะเป็นที่ยอมรับถึงสรรพคุณของไม้ทานาคาว่าช่วยทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งและไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติตลาดสามชุก

 “สามชุก เป็นเมืองเล็กๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี โดย ในอดีตสามชุกคือแหล่งที่ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติทั้งไทย จีน มอญ ฯลฯ มามีสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะของการแลกเปลี่ยน และซื้อขายสินค้า จนพัฒนาไปสู่ การลงหลักปักฐาน สร้างเมืองที่มั่นคงขึ้นมาตาม ประวัติของเมืองสามชุก กล่าวไว้ว่า ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมชื่ออำเภอ “นางบวช” ตั้งอยู่บริเวณ ตำบลนางบวช โดยมีขุนพรมสภา (บุญรอด) เป็นนายอำเภอคนแรก ซึ่งยังมีภาพถ่ายปรากฎอยู่จนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี 2457 ต้นรัชกาลที่ 6 ได้ย้ายอำเภอมาตั้งที่บ้าน “สำเพ็ง” ซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญในสมัยนั้น จนกระทั่งปี 2481 สมัยรัชกาลที่ 8 ได้เปลี่ยนชื่อจาก “อำเภอนางบวช” มาเป็น “อำเภอสามชุก” และย้ายมาตั้ง อยู่ริมลำน้ำสุพรรณบุรี (ท่าจีน) ซึ่งแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผ่านคลอง มะขามเฒ่า
แต่เดิมบริเวณที่ตั้งอำเภอสามชุกเรียกว่า “ท่ายาง” มีชาวบ้านนำของป่าจากทิศตะวันตกมาค้าขายให้กับพ่อค้าที่เป็นชาวเรือ บ้างก็มาจากทางเหนือ บ้างก็มาจากทางใต้ เป็น 3 สาย จึงเรียกบริเวณที่ค้าขายนี้ว่า “ สามแพร่ง “ ต่อมาได้เพี้ยน เป็น สามเพ็ง และสำเพ็งในที่สุด ดังปรากฎหลักฐานกล่าวไว้ในนิทานพื้นบ้านย่านสุพรรณมีเรื่องกล่าวต่อไปว่า ในระหว่างที่คนมารอขายสินค้าก็ได้ตัดไม้ไผ่มาสานเป็นภาชนะสำหรับใส่ของขาย เรียกว่า “กระชุก” ชาวบ้านจึงเรียกว่า “สามชุก” มาถึงปัจจุบัน
อำเภอสามชุกเดิมมีพื้นที่ 774.9 ตารางกิโลเมตร ต่อมาในปี 2528 ได้มีการตั้งอำเภอหนองหญ้าไซ จึงแบ่งบางส่วนออกไป ยังคงเหลือเพียง 362 ตารางกิโลเมตร
ตลาดสามชุก เป็นตลาดสำคัญในการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญในอดีต ตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี แต่เมื่อถนนคือ เส้นทางจราจรทางบกที่เข้ามาแทนที่การเดินทางทางน้ำ ทำให้คนหันหลังให้กับแม่น้ำท่าจีน ความสำคัญของตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าริมน้ำเริ่มลดลง บรรยากาศการค้า ขายในตลาดสามชุกเริ่มซบเซา และเมื่อต้องแข่งขันกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และตลาดนัดภายนอก ทำให้ร้านค้าภายในตลาดต้องหาทางปรับตัว และเมื่อราชพัสดุ เจ้าของที่ดินที่ชาวบ้านเช่าที่ดินมายาวนาน ดำริจะรื้ออาคารตลาดเก่า สร้างตลาดใหม่ จึงทำให้ชาวบ้านพ่อค้าที่อยู่ในตลาดสามชุก ครูอาจารย์ที่เห็นคุณค่าตลาดเก่า รวมตัวเป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ระดมความคิด หาทางอนุรักษ์ตลาดและที่อยู่ของตนไว้ และหาทางฟื้นคืนชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง เป็นที่มาของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ใช้การท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม ประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นเครื่องมือการพัฒนาอาคารไม้เก่าแก่ ในตลาดสามชุก ที่ก่อสร้างเป็นแนวตั้งฉากกับแม่น้ำท่าจีน เป็นสิ่งบอกให้รู้ว่าเป็นลักษณะของตลาดจีนโบราณ เป็นชุมชนชาวไทย-จีน ที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ลวดลายฉลุไม้ที่เรียกว่าลายขนมปังขิง ซึ่งเท่าที่พบในตลาดนี้มีถึง 19 ลาย คือ ศิลปะตกแต่งอาคารไม้โบราณ ที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน หากไม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ก็ย่อมสูญหายไปเช่นเดียวกับตลาดโบราณอื่นๆนอก จากสถาปัตยกรรม อาคารไม้โบราณที่พบเห็นได้ตลอดแนวทางเดิน 2 ข้างทางเดินในตลาด วิถีชีวิตบรรยากาศภายในตลาดการค้าขายที่ยังคงรักษาวิถีแบบดั้งเดิมเช่นใน อดีต และบรรยากาศน้ำใจอัธยาศัยไมตรีของแม่ค้า ข้าวของเครื่องใช้ ขนมอาหารที่นำมาตั้งขายในตลาด เป็นสิ่งยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งที่จำลองมาเพื่อให้ผู้ชมได้ดูชั่วครั้งชั่วคราว แต่เหล่านี้คือ วัฒนธรรมที่สืบเนื่องจากอดีต บ่มเพาะมาเป็น 100 ปี
นักท่องเที่ยวจะสามารถสัมผัสได้ ไม่รู้เบื่อ อิ่มตา อิ่มใจ อิ่มท้องอย่างไม่รู้ตัว และทำให้ตลาดสามชุก แห่งนี้ได้รับขนานนามว่าตลาด 100 ปี พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เรื่องของ..มะเขือเทศ

มะเขือเทศ สีสดใสสะดุดตา เห็นแล้วชวนรับประทานยิ่งนัก ทำเอาทั้งหลายท่านห้ามใจไม่อยู่ แต่ก็มีบางคนเหมือนกันที่เห็นเจ้ามะเขือเทศแล้วร้อง ยี้!! ไม่ว่าจะมาในแบบสดๆ หรือผ่านการแปรรูปมาแล้วก็ตาม ดังนั้นมะเขือเทศจึงมักกลายเป็นแค่เครื่องประดับอาหารจานอร่อยไปโดยปริยาย จะบอกให้นะคะว่า คุณกำลังบอกปัดสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพไปอย่างน่าเสียดายค่ะ เพราะมะเขือเทศนั้นไม่ใช่ว่าจะสวยแค่เปลือกนอกเท่านั้น แต่ภายในยังมีคุณค่ามากมาย ที่ทำให้มะเขือเทศเป็นราชินีแห่งผักและผลไม้ไม่แพ้กับผักชนิดอื่นเช่นกัน จะเรียกว่างามทั้งนอกและในก็คงไม่ผิด การรับประทานมะเขือเทศเพียงวันละ 1-2 ลูกจะให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เป็นต้นว่า ช่วยต้านโรคความดันโลหิตสูง บำรุงดวงตา และสายตา บำบัดอาการปัสสาวะขัด บำรุงเหงือกและฟัน ป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว เยียวยาโรคเลือดออกตามไรฟัน ต้านทานโรคภัยไข้เจ็บ คุ้มกันไม่ให้เป็นหวัดง่าย แก้ท้องผูก และบำรุงผิวพรรณ ของคุณด้วยค่ะ ข้อดีประการสุดท้ายคงถูกใจสาวๆ ส่วนใหญ่ ฉะนั้น สาวใดที่อยากผิวสวยควรหันมารับประทานมะเขือเทศวันละ 1-2 ลูกเป็นประจำ เท่านี้ก็ไม่ต้องพึ่งเครื่องสำอางราคาแพงให้เปลืองเงินเปลืองทองที่สำคัญ มะเขือเทศนั้นราคาแสนถูก ถ้าจะต้องรับประทานเป็นประจำเพื่อผิวสวยและสุขภาพที่แข็งแรงก็ไม่น่าจะเดือด ร้อนเงินในกระเป๋า

ดื่มน้ำเพื่อสุขภาพ


ร่างกายของคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 75% ของน้ำหนักตัว เราอาจจะอดอาหารได้เป็นเดือนๆ แต่ร่างกายไม่สามารถขาดน้ำได้เกินกว่า 3-7 วัน การดื่มน้ำอย่างถูกต้อง จะช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดี หัวใจทำงานปกติ และมีประสิทธิภาพแข็งแรงขึ้น ขณะเดียวกัน การขับถ่ายของเสียก็ทำงานได้ดี ที่สำคัญยังช่วยให้ใบหน้าชุ่มชื่น มีเลือดฝาด และไม่ปวดหลังหรือบั้นเอว เพราะสุขภาพไตแข็งแรง หลักการดื่มน้ำเพื่อสุขภาพไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด สามารถทำง่ายๆในชีวิตประจำวัน โดยน้ำที่เหมาะแก่การดื่มคือ น้ำอุณหภูมิปกติ ไม่ร้อนหรือเย็นจัดจนเกินไป ถ้าเป็นน้ำอุ่น ควรดื่มตอนเช้า เพื่อช่วยล้างลำไส้ให้สะอาด และช่วยการขับถ่ายของเสีย ในแต่ละวัน เราควรดื่มน้ำทั้งหมด 10 แก้ว โดยตื่นนอนตอนเช้าดื่ม 1 แก้ว ตอนสายดื่มอีก 2 แก้ว ตอนบ่ายและตอนเย็นดื่มครั้งละ 3 แก้ว และก่อนเข้านอนดื่มน้ำอีก ...

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"เม็ดฝรั่ง" ทำให้เป็นไส้ติ่ง จริงไหม ?

ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคปวดท้องแบบเฉียบพลันที่พบมากที่สุด ซึ่งมักจะพบมากในช่วงอายุ 15-45 ปี ทั้งชายและหญิง


สาเหตุเกิดจากการอุดตันของไส้ติ่ง ซึ่งอาจเกิดได้จาก อาหารอะไรก็ได้ที่ตกลงไป ไม่จำเป็นต้องเป็น เม็ดฝรั่งแบบที่คนโบราณบอก ( แต่เม็ดฝรั่งก็มีส่วนถูกนะ) หรือจะเกิดจากมีการบวมของต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้น หรืออาจเกิดจากพยาธิหล่นลงไปอุด มีเนื้องอกแถวนั้นโตไปอุด จะอะไรไปอุดก็ตาม เมื่อเกิดการอุดรูของไส้ติ่ง ของเหลว สารคัดหลั่งจะไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ ทำให้เกิดอักเสบ มีการติดเชื้อเกิดขึ้น

อาการของไส้ติ่งอักเสบ ก็คือมีการปวดท้อง ส่วนใหญ่ก็จะปวดทั่วๆไป อาจปวดรอบสะดือก่อน จากนั้นอีก 6-12 ชม.ต่อมา อาการปวดจะเริ่มย้ายไปที่ด้านขวาล่าง อาจมีไข้ต่ำ แต่ไข้มักไม่เกิน 38.5 องศาเซลเซียส อาการแบบนี้ คือ อาการที่มาตรฐาน Super Classic ซึ่งอาการแบบนี้ จริงแล้วพบได้เพียง 25% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออาจไม่เป็นไปตามนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับตำแหน่งของไส้ติ่ง อาจมีปวดด้านขวาบนได้ หรือ ตรงกลางได้ ถ้าปลายของไส้ติ่งยาวไปถึงบริเวณนั้น หรือ อาการนำอาจไม่ได้ชัดเจนแบบที่บอก

แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร กินข้าวไม่ลง บางรายอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อาจมีถ่ายเหลว ถ้ายังไม่ได้รับการรักษา อาการอาจเพิ่มมากขึ้น ไข้อาจสูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส อาการปวดอาจปวดทั้งซ้ายและขวา ซึ่งนั่นหมายถึงไส้ติ่งเริ่มติดเชื้อ รุนแรง เน่า และ แตกหรือกลายเป็นฝี ซึ่งระยะเวลาทั้งหมดขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น คนไข้ อายุ ขนาดของไส้ติ่ง การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไปบางส่วน แต่โดยทั่วไประยะตั้งแต่เริ่มปวดจนแตก มักไม่เกิน 3 วัน

การรักษาไส้ติ่ง แน่นอนที่สุด อย่างที่เราทราบๆกันดี คือ การผ่าตัด ซึ่ง การผ่าตัดอาจทำได้ทั้งการดมยาสลบ หรือ การฉีดยาชาเข้าที่ไขสันหลัง ที่เรามักคุ้นกับคำว่า บล๊อกหลัง ซึ่งหลังจากนั้น ศัลยแพทย์ ก็จะทำการผ่าตัด โดยเปิดแผลขนาด 3-4 cm ที่ หน้าท้องด้านขวาล่าง ตัดไส้ติ่งออก เย็บปิดแผล

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วอมแบท??

"งุ่มง่าม เชื่องช้า เฉื่อยชา ขาสั้น" เป็นคำจำกัดความของสัตว์โลกที่แสนน่ารัก ซึ่งมีหน้าตาคล้ายหนู รูปร่างเหมือน หมีโคอาร่า ไม่ใช่...มันไม่ใช่ทั้งหนูหรือหมีแต่มันคือ "Wombat” สัตว์พื้นเมืองของทุ่งออสเตรเลีย


วอมแบท (อังกฤษ: Wombat) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง ในวงศ์ Vombatidae มีทั้งหมด 3 ชนิด ใน 2 สกุล

วอมแบท เป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไปในออสเตรเลีย มันมีขนสีน้ำตาล-เทา หรือสีดำ ด้วยขนที่นุ่นนิ่ม จึงทำให้มันเป็นสัตว์ที่น่ารักที่สุดในแถบนั้นรองมาจากหมีโคอาล่า ด้วยขาหน้าที่ทรงพลังและกรงเล็บที่แข็งแรง ทำให้มันสามารถขุดดินได้ว่องไว แม้ว่าวอมแบทจะมีสายตาที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ว่าธรรมชาติก็ได้ชดเชยความสามารถ ในการดมกลิ่นของมันให้มีประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าหน้าตาและท่าทางของวอมแบทและจิงโต้จะต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่มันเป็นสัตว์ที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน ซึ่งมีสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามันมีสายพันธุ์เดียวกัน เพราะว่า.....วอมแบทและจิงโจ้มีกระเป๋าหน้าท้อง ที่นำมาใช้เป็นที่อาศัย ของลูกน้อยเหมือนกัน โดยวอมแบทจะออกลูกคราวละ 1 ตัวเท่านั้น ใช้เวลาในการอุ้มท้องประมาณ 22 วัน ลูกที่ออกมาจะยังไม่ลืมตาและยังไม่มีขนที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายได้ ถึงแม้ว่าตาและหูของมันจะยังทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่ปากและจมูก ก็ทำหน้าที่ดมกลิ่นและกินอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมันจะควานหาหัวนม ที่มีอยู่เพียงหัวเดียว ในกระเป๋าหน้าท้อง เมื่อนมนั้นเข้าปาก หัวนมจะพองตัวออกมา เพื่อให้คับปากลูก ทำให้ไม่กระเด็นออก ไปนอกกระเป๋า เมื่อแม่ต้องออกไปหาอาหาร วอมแบทมักจะออกหาอาหารในช่วงกลางคืน โดยใช้เวลาประมาณ 3-8 ชั่วโมงและเดินทางไกลกว่า 3-4 กิโลเมตร จึงจะได้อาหารที่ต้องการ

วอมแบทใช้เวลาในการเจริญเติบโต ประมาณ 4-10 เดือน เมื่อมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาทำร้ายหรือสร้างความหวาดกลัว ให้ลูกน้อย มันจะกลับเข้าไปในกระเป๋าหน้าท้องของแม่ทันทีเพื่อความปลอดภัย เมื่อเริ่มเติบโตขึ้นมันจะกินอาหารอื่นๆแทนนมแม่ โดยอาหารของมันคือพืช ประเภทหญ้า ซึ่งเป็นอาหารที่มันชื่นชอบและเหมาะสมกับวอมแบทมากที่สุด เพราะฟันทั้ง 24 ซี่ ที่แข็งแรงของมันนั้จะเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดอายุขัยของมัน ซึ่งจะทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารที่มีไฟเบอร์และมีซิลิกาสูง ได้เป็นอย่างดี

กรงเล็บที่แหลมคมของวอมแบททำหน้าที่สร้างรังขนาดใหญ่ให้กับมัน ซึ่งจะอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าสวันนา ทุ่งป่าเปิด และที่ราบที่เต็มไปด้วยต้นไม้เตี้ยๆ แทนที่วอมแบทจะอาศัยอยู่ตามพื้นดิน มันกลับไปอยู่ใต้ดินเหมือนตัวตุ่นแทน ภายในอุโมงค์ที่มีความซับซ้อน จะมีวอมแบทอยู่ประมาณ 5-10 ตัว โดยจะมีตัวผู้และตัวเมียในจำนวนที่เท่าๆ กัน หากมีสัตว์อื่นๆเข้ามาจู่โจมภายในอุโมงค์ มันจะใช้ก้นที่หนาและแข็งแรง เป็นกำบัง ถ้าผู้บุกรุก พยายามคลานเข้ามาอยู่บนตัวของวอมแบท มันจะถีบด้วยขาหลังที่แข็งแรง และผลักเข้าไปติดกับผนังอุโมงค์ทันที โดยจู่โจมเข้าที่จมูกหรือที่ไหนก็ได้ที่ทำให้ศัตรูหยุดลมหายใจ

มีรูปร่างโดยรวม อ้วนป้อม มีขนนุ่มละเอียด มีสีน้ำตาลอ่อนหรือเทาหรือดำ หางสั้น มีส่วนขาที่สั้น ขาหน้าที่มีเล็บแหลมคมและข้อขาที่แข็งแรง ใช้สำหรับขุดโพรงเพื่ออยู่อาศัย ซึ่งโพรงมีทางยาวและมีหลายห้องหลายทาง เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน ในยามปกติตัวผู้และตัวเมียจะแยกกันอยู่ จะอยู่ด้วยกันเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น ขนาดโตเต็มที่โดยเฉลี่ยยาวประมาณ 1 เมตร น้ำหนักเกือบ 40 กิโลกรัม กินพืชเป็นอาหาร โดยเฉพาะหญ้าที่เป็นอาหารหลัก

วอมแบทเป็นสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้องคว่ำ เพื่อป้องกันลูกตกลงมา ให้ลูกครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น ใช้เวลาตั้งท้องนาน 22 วัน
มีทั้งหมด 3 ชนิด 2 สกุล พบในประเทศออสเตรเลียทางตอนใต้และเกาะทัสมาเนียเท่านั้น ได้แก่

สกุล Vombatus

*วอมแบทธรรมดา (Vombatus ursinus)

สกุล Lasiorhinus

*วอมแบทจมูกขนพันธุ์เหนือ (Lasiorhinus krefftii)

*วอมแบทจมูกขนพันธุ์ใต้ (Lasiorhinus latifrons)

สำหรับในประเทศไทย มีวอมแบทถูกเลี้ยงในสวนสัตว์ คือ สวนสัตว์ดุสิต โดยได้รับมาจากรัฐบาลออสเตรเลียเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550

นอกจากนี้แล้ว ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ยังมีสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องอีกจำพวกหนึ่ง ที่มีรูปร่างคล้ายวอมแบทในปัจจุบันนี้ แต่ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว คือ ไดโปรโตดอน ที่มีความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ประมาณ 2 เมตร ลำตัวยาว 3 เมตร น้ำหนักราว 3 ตัน