วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

ผ้าจากใยแมงมุมสีทอง


นักประวัติศาสตร์ ศิลปะชาวอังกฤษผลิตผลงานอันน่าทึ่ง ด้วยการทอผ้าคลุมไหล่จากใยสีทองของแมงมุม  “golden orb spider” กว่า 1 ล้านตัว โดยใช้เวลาในการถักทอทั้งสิ้น 5 ปี ทั้งนี้เชื่อว่าผ้าคลุมไหล่ดังกล่าว เป็นผืนผ้าที่ผลิตจากใยแมงมุมสีทองขนาดใหญ่และหายากที่สุดในโลก
ผ้าคลุมไหล่ทอมือจากใยแมงมุม ขนาด 11 ฟุต เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของนายไซมอน เพียร์ส เขาใช้เวลาในการถักทอทั้งสิ้น 5 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งสิ้นมากกว่า 15.7 ล้านบาท
ผ้าผืนนี้ถูกนำไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ “American Museum of Natural History” ในกรุงนิวยอร์ค เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และจะถูกนำไปอวดโฉมที่กรุงลอนดอนในปีหน้า
 แมงมุม 1 ตัว สามารถผลิตเส้นใยสีทองได้มากถึง 400 หลา
ผ้าคลุมไหล่ผืนนี้ ผลิตจากใยของแมงมุม “golden orb spider” ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในมาดากัสการ์ จำนวนกว่า 1 ล้านตัว  และมีเพียงตัวเมียเท่านั้นที่จะผลิตเส้นใยสีทองที่ทั้งสวยงามและมีความแข็ง แรงทนทาน จนสามารถนำมาใช้งานได้
นายนิโคลาส ก็อดเล่ย์ หุ้นส่วนของนายเพียร์ส กล่าวว่า กว่าจะได้ใยไหมเพียง 1 ออนซ์ (0.028 ก.ก.) ต้องใช้ (แรงงาน) แมงมุมมากถึง 14,000 ตัว และผ้าคลุมไหล่ผืนนี้ก็มีน้ำหนักราว 2.6 ปอนด์ (1.179 ก.ก)
“เราต้องหาผู้ร่วมงานที่เต็มใจทำงานกับแมงมุม และไม่กลัวพวกมันกัดเวลานำใยมาใช้ทอผ้า” นายก็อดเล่ย์ กล่าว
นายเพียร์ส ได้แรงบันดาลใจในการทอผ้าใยแมงมุมมาจากเรื่องเล่าขานที่ว่า เคยมีหัวหน้านักล่าอาณานิคมชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 นำใยของแมงมุม “golden orb spider” ในมาดากัสการ์ มาใช้ทอผ้า อย่างไรก็ตาม เขาสารภาพว่า “ผมเองก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าตำนานดังกล่าวเป็นเรื่องชัวร์หรือมั่วนิ่ม”
ในช่วงแรกของการทอผ้าจากใยแมงมุม เขาต้องพบกับอุปสรรคอันใหญ่หลวง เมื่อแมงมุมที่นำมาใช้ผลิตเส้นใย (ชุดละ 24 ตัว) เริ่มกัดกินกันเอง
“เราเริ่มต้นทำงานโดยใช้แมงมุมกว่า 20 ตัว แต่สุดท้ายกลับเหลือแมงมุมอ้วนพีเพียง 3 ตัว”
หลังใช้ความพยายามเป็นเวลานานกว่า 5 ปี ผลงานในครั้งนี้ก็เสร็จสมบูรณ์ และถือเป็นผ้าที่ทำจากใยแมงมุมขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการผลิตมา โดยผ้าจากใยแมงมุมที่เคยมีคนทำมาก่อนหน้า มีความยาวเพียงไม่กี่เซ็นติเมตร ปัจจุบันถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ลียง ประเทศฝรั่งเศส
ถึงแม้ว่าจะมีแมงมุมเป็นจำนวนมากที่ ตายในหน้าที่ แต่นายเพียร์สและนายก็อดเล่ย์ ก็ได้คิดค้นระบบเพาะพันธุ์แมงมุมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีแมงมุมรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นทดแทนทุกวัน ส่งผลให้ทั้งคู่กลายเป็นนักเพาะพันธุ์แมงมุมชนิดนี้ไปโดยปริยาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น